|
"สตูล" สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์
สตูล คือจังหวัดที่รวมไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของพี่น้องชาวไทยมุสลิมและหมู่เกาะงดงามที่โด่งดังระดับประเทศ เช่น เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม ฯลฯ รวมทั้งผืนป่าดิบ โถงถ้ำ และน้ำตกน้อยใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบันด้วยความหลากหลายเช่นนี้ สตูลจึงนับได้ว่าเป็นเพชรอีกเม็ดหนึ่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน อันเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวโดยไม่เคยเสื่อมคลาย
|
|
จังหวัดสตูลมีเนื้อที่ประมาณ 2,479 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงมีหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่าร้อยเกาะอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัด ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเนินสูง มีที่ราบ ป่าเขา และลำธารทางด้านตะวันออก ตอนกลางใกล้ทะเลเป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับกับภูเขา ส่วนชายฝั่งทะเลเป็นที่ราบและป่าชายเลนชื่อ “สตูล” เพี้ยนมาจากภาษามลายู คือสโตย ซึ่งแปลว่ากระท้อน ที่ขึ้นดกดื่นอยู่ในพื้นที่นี้ โดยก่อนที่จะผนวกรวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย สตูลเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลไทรบุรี มีชื่อเป็นภาษามลายูว่านครสโตยมำบังสการา ซึ่งไทยเรียกว่าสตูล แปลว่าเมืองแห่งพระสมุทรเทวาย้อนหลังไปก่อนช่วงรัตนโกสินทร์ สตูลยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาใดๆ

|
|
จนกระทั่งถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ชื่อสตูลปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 โดยข้องเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไทรบุรี นอกจากนี้ ชื่อสตูลยังปรากฏอยู่ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ในเวลาต่อมาเมื่อถึง พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รักษาเมืองไทรบุรี ปะลิส และสตูลเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่ามณฑลไทรบุรี จนล่วงเข้า พ.ศ. 2452 มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ทำให้ไทรบุรีและปะลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลอยู่ในความปกครองของไทย โดยใน พ.ศ. 2453 สตูลมีฐานะเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลภูเก็ตกระทั่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน พ.ศ. 2475 สตูลก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด จวบจนทุกวันนี้จังหวัดสตูลแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ กับ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอท่าแพ อำเภอควนกาหลง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอมะนัง
ทิปส์ท่องเที่ยว
- ฤดูกาลเที่ยวหมู่เกาะในสตูลคือช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงอับคลื่น อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบสภาพอากาศอีกครั้งก่อนเดินทาง เพราะอาจมีมรสุมนอกฤดูพัดผ่านเข้ามา
- เที่ยวเกาะหลีเป๊ะให้สนุกและได้ซึมซับวัฒนธรรมของชาวไทยใหม่ (ชาวเล) ควรไปให้ตรงกับวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับช่วงประกอบพิธีลอยเรือของชาวไทยใหม่
|
|

เกาะไข่ อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางจากเกาะตะรุเตาประมาณ 40 นาที สิ่งที่มีชื่อเสียงบนเกาะไข่ ได้แก่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทะเลรอบ ๆ เกาะไข่มีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไป
|
|

หมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 40 กิโลเมตร เป็นเกาะที่มีหาดทรายละเอียดสวยงาม รอบเกาะมีเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะ ซึ่งเป็นเกาะที่เหมาะสำหรับการดำน้ำตื้น แถมยังมีน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดปี คือ น้ำตกโจรสลัด พร้อมชมวิวที่ "ผาชะโด" ซึ่งในอดีตเคยเป็นจุดสังเกตการณ์ของโจรสลัดเพื่อเข้าโจมตีเรือสินค้า ปัจจุบันเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม ใช้เวลาเดินขึ้น 40 นาที บนผาชะโดเป็นลานโล่งมองลงไปจะเห็นทิวสนและแหลมทรายสีขาวของเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกอีกด้วย
|
|

เกาะหินงาม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง เป็นเกาะขนาดเล็ก ชายหาดมีก้อนหินสีดำรูปร่างต่างๆ มีลักษณะกลมเกลี้ยง ลวดลายสวยงาม เมื่อถูกน้ำจะเป็นมัน แวววาว งดงาม บนเกาะมีป้ายเตือนเกี่ยวกับคำสาปเจ้าพ่อตะรุเตา “ผู้ใดบังอาจเก็บหินงามจากเกาะนี้ไป ผู้นั้นจะถึงซึ่งความหายนะนานานับประการ”
|
|

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา 22 กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทิศใต้จดทะเลที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวน 51 เกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี แบ่งออกเป็น 2 หมู่เกาะใหญ่ คือหมู่.เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 และ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2525 ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน
|
|

เกาะสิเป๊ะหรือเกาะหลีเป๊ะ อยู่ทางใต้ของเกาะอาดัง 2 กิโลเมตร มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6และเดือน 12 ตลอด 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านทีมีเชื้อสายชาวเลจะร่วมกันจัดงานรื่นเริง และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการประกอบอาชีพประมง
|
|
 ขอบคุณข้อมูลจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย http://thai.tourismthailand.org/ข้อมูลจังหวัด/สตูล ภาพจาก : Kapook.com
แนะนำข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสตูล http://satun.mots.go.th/index.php
|